The 43rd Ryder Cup 2021 การแแข่งขันกอล์ฟระดับโลก ระหว่างนักกอล์ฟชั้นนำของทวีปยุโรปและสหรัฐอเมริกา

The 43rd Ryder Cup 2021 การแแข่งขันกอล์ฟระดับโลก ระหว่างนักกอล์ฟชั้นนำของทวีปยุโรปและสหรัฐอเมริกา
ติดตามการถ่ายทอดสดได้ที่ ทรูวิชั่นส์ ที่เดียว


ไรเดอร์คัพ กลับเข้าสู่ปีเลขคี่

หากได้ดูการแข่งขันกอล์ฟหญิง โซลไฮม์ คัพ 2021 ที่จบไปก่อนหน้า คงพอจะเดาได้ว่า ลำดับโปรแกรมจะเป็นอย่างไรบ้างใน ไรเดอร์ คัพ ด้วยการแข่งขันรูปแบบเดียวกัน ทั้งสองทีมสหรัฐและยุโรปมีผู้เล่นฝ่ายละ 12 คน แต่การเลือกผู้เล่นอาจมีรายละเอียดปลีกย่อยบางอย่างแตกต่างกัน

ที่จริงแล้วนับตั้งแต่ปี 2002 เป็นต้นมา ฝ่ายหญิงจะแข่งขันในปีเลขคี่ สลับกับฝ่ายชายในปีเลขคู่ เนื่องจากในปี 2001 เกิดเหตุการณ์ก่อการร้าย 9/11 ก่อนการแข่งขันเพียง 2 สัปดาห์ ทำให้โปรอเมริกันหลายคนกังวลกับการเดินทางไปยุโรป จึงเลื่อนการแข่งไป 1 ปีเป็นปี 2002 ซึ่งสถานการณ์โควิด-19 ก็ทำให้การแข่งขันเลื่อนมา ในปี 2021 จึงมีการแข่งทั้งชายและหญิง โดย ไรเดอร์ คัพ ครั้งนี้ขยับมาจากโปรแกรมปี 2020 ในสนามปราบนักระเบิดทรายด้วยบังเกอร์จำนวนมากที่ วิสลิ่ง สเตรทส์ คอร์ส รัฐวิสคอนซิน อเมริกา การแข่งขันจะเริ่มในช่วงเย็น ไปจบเอาตอนเช้าตรู่ตามเวลาประเทศไทย 

การแข่งขันแบ่งออกเป็น 3 วัน โดยใน 2 วันแรก (24-25 ก.ย.) เป็นการแข่งขันแบบ โฟร์ซัม และ โฟร์บอล เนื่องจากปีนี้ เจ้าภาพอยู่ที่สหรัฐ การแข่งขันจึงเป็นฝ่ายทีมยูเอสเอที่เลือกลำดับการแข่งขัน กัปตัน สตีฟ สตริคเกอร์ ขอให้การตีแบบ โฟร์ซัม (Foursomes) เริ่มออกก๊วนก่อนในตอนเช้า และ โฟร์บอล (Fourball) เริ่มออกก๊วนบ่าย การตีแบบ โฟร์ซัม หรือโปร 2 คนในแต่ละทีมผลัดกันตีคนละช็อตเป็นเรื่องที่ท้าทายและไม่ได้เห็นกันบ่อยนักในการแข่งขันทั่วไปที่เน้นเก็บคะแนนแบบบุคคล และเมื่อจบ 2 วัน จึงจะมีประกาศรายชื่อการดวลตัวต่อตัวที่รอคอยในวันสุดท้าย 

ในทั้ง 3 วัน การแข่งขันทั้งหมด 28 แมตช์ 28 คะแนน ฝ่ายชนะได้ 1 คะแนน เสมอได้ทีมละครึ่งคะแนน หากคะแนนเท่ากัน 14-14 แชมป์เก่าจะเป็นฝ่ายได้แชมป์ไปครอง สถิติที่ผ่านมา 12 ครั้งล่าสุดทีมสหรัฐเอาชนะได้เพียง 3 ครั้ง ดังนั้นนี่จึงเป็นการแข่งขันที่ท้าทาย ซึ่งโปรทั้ง 12 จำเป็นต้องใช้ความได้เปรียบในฐานะเจ้าภาพ โดยคาดกันว่าจะมีผู้ชมหลั่งไหลเข้ามามากกว่าวันละ 40,000 คน 

สนามแข่งขันในปี 2021  วิสลิ่ง สเตรทส์ คอร์ส รัฐวิสคอนซิน เวลาแตกต่างจากประเทศไทย 12 ชั่วโมง ทีออฟก๊วนแรกในการแข่งขัน 2 วันแรก (24-25 ก.ย.) เริ่มต้นเวลา 19.05 น. ก๊วนบ่าย 00.10 น. ตามเวลาประเทศไทย และการแข่งขันตัวต่อตัววันสุดท้ายเริ่มเวลา 23.04 น. ไปจบเอาเช้าวันจันทร์ 27 ก.ย.

ความยากของสนามแห่งนี้คือ บังเกอร์จำนวนมาก ซึ่งที่จริงแล้วการออกแบบสนามที่มีหลุมทรายอยู่มากอาจมีถึงที่นี่มีพื้นที่ที่ไม่ได้ใช้สอยหรือพื้นที่ทิ้งเปล่าไม่น้อย ไม่เคยมีใครนับจำนวน แต่ว่ากันว่าทั้งสนามนั้นมีบังเกอร์นับพัน! เพียงแค่ที่นับเป็นอุปสรรคอาจนับได้หลัก 100 ต้นๆ เท่านั้น แต่อาจเป็นจิตวิทยา เช่นในหลุม 10 ก่อนเริ่มทีออฟ ท่านนักกอล์ฟอาจเห็นหลุมทรายถึง 26 หลุมทางซ้ายมือ แต่พวกมันไม่ได้เกี่ยวข้องในเพลย์เลย 

ภาพรวมของทีมสหรัฐ มีรุกกี้หรือคนที่เพิ่งเคยเข้ามาเล่น ไรเดอร์ คัพ ทั้งหมด 6 คน แต่หากว่าด้วยอันดับควอลิฟายแล้ว 10 จาก 12 คนคือท็อป 10 ใน พีจีเอ ทัวร์ หรือหากขยายฐานอีกนิด โปรของทีมเจ้าภาพคือ 12 จาก 14 อันดับแรก ดังนั้นเรื่องฟอร์มจึงไม่น่ามีปัญหา ข้ามมาที่ทีมยุโรปมีรุกกี้ 3 คน 2 ใน 3 มาจากการควอลิฟาย ส่วน ไวลด์การ์ดที่กัปตัน เปแดร็ก แฮร์ริงตัน เลือกมาเป็นตัวเก๋าทั้ง เซร์คิโอ การ์เซีย และ เอียน โพลเตอร์ ดังนั้นจึงมีการพุ่งเป้าไปที่ เชน ลอว์รี่ วัย 34 ปีที่ติดทีมครั้งแรก แฟนๆ อาจได้เห็นการต่อสู้ชิงไหวพริบและใช้ประสบการณ์ที่น่าตื่นเต้น 

ด้วยสถิติที่ยังห่างไกล ทีมสหรัฐชนะ 26 ทีมยุโรปชนะ 14 และเสมอ 2 กับสถานะเจ้าบ้านทำให้เป็นที่คาดกันว่า ครั้งนี้คงถึงคราวของทีมสหรัฐบ้าง และหากพวกเขาไม่สามารถเก็บชัยชนะได้ ก็ต้องรอเวลาอีก 2 ปีจึงสามารถไปแก้มือได้อีกครั้งที่อิตาลี ในปี 2023 เท่ากับว่าการแข่งขันจะกลับเข้าสู่ปีเลขคี่ เหมือนที่เคยเป็นมาตั้งแต่แรก

ปัญหาของการเล่น โฟร์ซัม (Foursomes)

ถ้าลองให้นิยามกีฬากอล์ฟ เชื่อว่าโปรหลายท่านคงใช้คำว่า “กีฬาที่แข่งขันกับตัวเอง” แม้ตลอดทั้ง 18 หลุมมีเรื่องสภาพอากาศ หรือกระทั่งคะแนนของคนที่ขึ้นนำและไล่ตาม แต่หากมีจิตใจแข็งแกร่งมากพอก็จะสามารถผ่านมันไปได้ แต่เมื่อไรที่ไม่ได้ตีลูกนั้นเองคนเดียว มีเพื่อนร่วมก๊วนคนอื่นอยู่ด้วย จะมีปัญหาอะไรได้บ้าง

การเล่น โฟร์ซัม (Foursomes) หรือลูกกอล์ฟลูกเดียว แต่ต้องผลัดกันตีคนละช็อตเป็นสิ่งที่ท้าทายอย่างมาก ผู้คนไม่ได้ชมการเล่นแบบนี้กันบ่อยๆ แต่จะพบได้ในการแข่งขันแบบ ไรเดอร์ คัพ, โซลไฮม์ คัพ และ เพรซิเดนท์ คัพ ระหว่างทางกว่าจะไปถึงกรีนจนลงหลุมต้องอาศัยความเป็นทีมเวิร์คอย่างมาก 

ตามกฎแล้วการเล่นแบบนี้ ผู้เล่นทั้งสองจะผลัดกันตีคนละช็อต แต่หากเกิดปัญหาเช่นตีตกน้ำแล้วต้องดร็อป ก็จะให้ตกลงกันว่าควรทำอย่างไร และไม่มีการหวงห้ามไม่ให้นักกอล์ฟที่ไม่ได้ตีช็อตนั้นหรือแคดดี้ในก๊วนให้คำปรึกษา ทุกคนเป็นทีมออกความเห็นได้ แต่ปัญหาคือความเห็นของแต่ละคนมักจะไม่ตรงกัน 

ใน ไรเดอร์ คัพ 2021 หลังจาก บรู๊คส์ โคเอปก้า รู้ตัวว่าเขาผ่านการคัดเลือกได้ร่วมทีม เขาแสดงความเห็นว่าเขาไม่โปรดปรานการเล่นเป็นทีมเท่าที่ควร เขาอุตสาหะโชว์ฟอร์มดี ตีอย่างสุดสวย แต่กลับแพ้เพราะมีคนอื่นที่ตีไม่ดี มันน่าโมโห ที่จริงแล้วเหมือนว่าเขาจะมีปัญหากับ ดัสติน จอห์นสัน ใน ไรเดอร์ คัพ 2018 แต่คำตอบที่เขาบอกก็คือไม่มีอะไรกัน เป็นเรื่องเข้าใจผิด แต่ถึงอย่างนั้นในวันที่กอล์ฟกลายเป็นกีฬาของทีมสิ่งที่โปรหลายคนไม่อยากได้ยินและไม่อยากเจอก็คงมีอยู่บ้าง

“ฉันไม่เคยเล่นแย่แบบนี้เลย” 

มีบางวันที่ทุกอย่างไม่เป็นใจ ต่อให้ 2 วันก่อนหน้าทำ เมจิก นัมเบอร์ แต่ถ้าอีกวันพลาดง่ายๆ ทุกอย่างก็จบได้เร็ว ดังนั้นการพูดเช่นนี้ต่อให้ใช้บอลคนละลูกก็ไม่เหมาะสม

“เล่นช้าเกินไป”

นี่ไม่ใช่คำพูด แต่เป็นการแสดงออก ดูไม่รีบร้อนเมื่อถึงจังหวะของตัวเอง หรือการซ้อมสวิง 10 ครั้งก่อนจรดปลายไม้เข้าที่ลูก แปลว่ามีความกังวล ไม่มั่นใจแฝงอยู่ ไม่ใช่คุณคนเดียวที่กลัว เพื่อนในก๊วนก็กลัวเหมือนกัน

“เล่นเร็วเกินไป” 

ตรงกับคนที่เล่นช้า คนที่เล่นเร็วอาจไม่คิดมาก หรือยังไม่ได้ไตร่ตรอง โดยเฉพาะถ้าเขาทำตัวเป็นนาฬิา จับเวลาว่าใครทำอะไรไปกี่วินาที ก็อาจทำให้คนรอบข้างไม่พอใจได้ 

“พนันกันไหมล่ะ”

ใจใหญ่ สายวัด ถ้าวันนี้ตีแย่จะให้ 1,000! เงินที่เสียไปอาจไม่ได้มากมายเมื่อเทียบกับฐานะหรือเงินรางวัล ปัญหาของมันไม่ได้อยู่ที่เงิน แต่เป็นความกดดันทางด้านจิตใจที่ต้องรับเข้ามาเพราะลั่นวาจาไว้แล้วต่างหาก   

“ผู้คุมกฎ”

ในกีฬาทุกประเภท เราอาจพบกับคนที่เคร่งครัดในทุกสิ่ง สิ่งนี้ไม่ดี สิ่งนั้นไม่ได้ ทำแล้วจะผิดกฎ หรือว่าขานสกอร์ให้เพื่อนฟังตลอดเวลา บางทีก็อาจต้องตอบโต้กลับไปว่า อย่าเครียดมากนัก ผ่อนคลายบ้าง

“แค่ยินดีกับการมาที่นี่”

บางวันที่อากาศดี อารมณ์ของผู้คนก็จะยินดีเป็นพิเศษ คนที่ยิ้มได้แม้ตัวเองตีเข้าป่า แถมยังหัวเราะเวลาที่เห็นเพื่อนตีตกน้ำ เขาชวนคุยเรื่อยเปื่อยเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น ที่จริงแล้วเขาเป็นคนดี อาจจะไม่กระตือรือร้น ลองเปลี่ยนคำถามเล็กๆ น้อยๆ ให้ทุกอย่างดูเข้าที่เข้าทางบ้าง และเพื่อให้เห็นว่าทุกคนล้วนมีความพยายาม ก็คงไม่เป็นไร 

ในกีฬาที่แข่งขันกับตัวเองก็ยังมีปัจจัยมากมายที่สภาพแวดล้อมรอบตัวมีส่วนกับผลที่ออกมา เหล่านี้เป็นสิ่งที่โปรทั้งหลายไม่อยากเจอและคงทำให้ โคเอปก้า คิดหนักด้วยเหมือนกัน มีคนบอกให้เขาถอนตัวดีกว่าต้องทนแข่งในรายการที่ถือเป็นเกียรติยศ ใครๆ ก็อยากเข้าร่วม แต่เขาก็ไม่ถอยและยอมรับว่าเขาต้องเปลี่ยนทรรศนคติ แล้วทุกอย่างจะดีเอง

 

 

อัปเดตข่าวล่าสุดก่อนใคร :

Website : www.truevisions.co.th

Facebook : Truevisions

Twitter : @TrueVisions

Line : @Truevisions

Youtube official : Truevisionsofficial

Instagram : Truevisionsofficial