เร้ดบูลล์ ทะลุเพดาน แมนฯ ซิตี้ แห่งวงการ F1

เร้ดบูลล์ ทะลุเพดาน แมนฯ ซิตี้ แห่งวงการ F1
“เพดานค่าใช้จ่าย” หรือ “Cost Cap” ที่นำมาใช้เป็นปีแรกในวงการ ฟอร์มูล่า วัน มีผู้ฝ่าฝืน และเป็นทีมใหญ่อย่าง “เร้ดบูลล์ เรซิ่ง” ที่ทุกคนต้องการเห็นบทลงโทษอย่างชัดเจน กับคำถามมากมาย





สหพันธ์ยานยนตร์นานาชาติหรือ เอฟไอเอ ประกาศชัดเจนว่า เร้ดบูลล์ เรซิ่ง มีความผิดจากการใช้งบประมาณเกินกำหนดในปีบัญชี 2021 ทำให้เกิดคำถามมากมายว่า วงการ ฟอร์มูล่า วัน มีเรื่องทำนองนี้ด้วยหรือ หลังจากผ่านเวลาหลายปีที่ผู้คนวิพากย์วิจารณ์ในฐานะกีฬาที่สิ้นเปลือง 


ปี 2021 คือการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญ นอกจากการเปลี่ยนแปลงเรื่องระบบเครื่องยนตร์และพลังงาน COST CAP หรือเพดานรายรับรายจ่ายเป็นสิ่งที่สหพันธ์ฯ พยายามอย่างยิ่งที่จะสร้างมาตรฐานความเท่าเทียมอย่างที่สุด โดยให้แต่ละทีมใช้จ่ายได้ไม่เกิน 145 ล้านเหรียญ (ประมาณ 5,495 ล้านบาท) ต่อปี 


COST CAP คืออะไร 


หากแฟนๆ คุ้นเคยกับอเมริกันสปอร์ต คงพอเคยได้ยินคำว่า Salary Cap หรือเพดานเงินเดือน ที่แต่ละทีมต้องเฉลี่ยการจ่ายค่าจ้างผู้เล่นให้มีสมดุล เพื่อให้แต่ละทีมเกิดความเท่าเทียม หรือหากเป็นซ็อคเกอร์ ฟุตบอลยุโรปก็มีสิ่งที่เรียกว่า ไฟแนนเชี่ยล แฟร์เพลย์ ซึ่งพอจะใกล้เคียงกัน เพราะมันหมายความว่าหาได้เท่าไรก็ต้องใช้เท่านั้น ไม่ให้บัญชีติดตัวแดง 


เร้ดบูลล์ เรซิ่ง ทำอะไรผิด 


จากประกาศของ เอฟไอเอ เมื่อ 10 ต.ค. ที่ผ่านมา เร้ดบูลล์ เรซิ่ง มีความผิดโทษฐานใช้งบประมาณเกินกำหนด แต่น้อยกว่า 5 เปอร์เซ็นต์ 7.25 ล้านเหรียญ (ประมาณ 274 ล้านบาท) ส่วน แอสตัน มาร์ติน ที่คาดว่าน่าจะผิดด้วยเหมือนกันในตอนแรก ตอนนี้มีการปรับความเข้าใจใหม่ว่าอาจเป็นการกรอกข้อมูลผิดพลาด แบบเดียวกับที่ วิลเลี่ยมส์ เคยโดนไปแล้ว ส่วนอีก 7 ทีมที่เหลือไม่มีปัญหาอะไร


มูลค่า 7.25 ล้านเหรียญ เทียบกับงบประมาณก้อนโตก็ดูเหมือนไม่ใช่เรื่องใหญ่อะไร แต่ในความเป็นจริงแล้ว เงินจำนวนนี้สามารถใช้ปรับแต่งอะไหล่และอุปกรณ์ต่างๆ ที่จะช่วยให้ทีมได้เปรียบทีมอื่นอย่างมหาศาล มีการเปรียบเทียบว่า แค่ 2 ล้านเหรียญ (ประมาณ 75 ล้านบาท) ก็สามารถทำให้รถมีความเร็วเพิ่มขึ้น 0.2 วินาทีแล้ว และทุกเศษเสี้ยววินาทีในกีฬาที่ใช้ความเร็วติดสิน เป็นเรื่องใหญ่เสมอ 


บทลงโทษที่เป็นไปได้ 


เนื่องจากมีรายละเอียดปลีกย่อยมากมาย ทั้งด้วยตัวกฎ ด้วยตัวความผิด ที่ยังไม่แน่ใจนักว่าละเมิดอะไรไปบ้าง แต่มีความผิดแน่นอน และการตัดสินโทษมีอะไรต้องพิจารณาหลายอย่าง ดังนั้นจึงคาดกันว่าโทษที่จะได้รับคือ


1. ปรับเงิน หรือปรับลดจำนวนเงินที่จะสามารถใช้ได้ในอนาคต

2. การประณามและใส่รายละเอียดอย่างครบถ้วนถึงความผิดครั้งนี้ เพื่อเป็นเยี่ยงอย่างแก่ทีมอื่นในอนาคต

3. ตัดคะแนนในประเภททีมผู้สร้าง (เนื่องจากเป็นความผิดในปี 2021 จึงต้องปรับย้อนหลัง)

4. ตัดคะแนนในประเภทนักขับจากสนามที่ได้เปรียบอย่างชัดเจน หรือมีการปรับแต่งเครื่องยนตร์ส่วนที่ใช้งบประมาณเกินมาในสนามนั้นๆ


ข้อสุดท้ายเป็นเครื่องหมายคำถามขนาดใหญ่ เนื่องจากหากทำเช่นนั้นจริง อาจมีการคืนตำแหน่งแชมป์ของ แม็กซ์ เวอร์สเตปเปน ไปที่ ลูอิส แฮมิลตัน เพียงแค่ดูเหมือนมันจะเป็นไปได้น้อยที่สุด แต่เมื่อทีมโดนประณาม ก็เป็นไปได้ที่ภาพของการคว้าแชมป์ที่เคยเป็นสุดยอดแชมป์แรกให้กล่าวขานไปชั่วลูกหลาน อาจมีรอยหม่นหมองเล็กน้อย 


เร้ดบูลล์ เรซิ่ง… แมนเชสเตอร์ ซิตี้ แห่งวงการ เอฟ วัน


สิ่งที่เกิดขึ้นทั้งหมด ไม่เหนือกว่าความคาดหมาย คริสเตียน ฮอร์เนอร์ เคยกล่าวไว้ในช่วงกลางปี 2021 หลายอย่าง สิ่งแรกคือเรื่องการใช้งบประมาณรายรับรายจ่ายเป็นสิ่งที่อาจผิดไปจากจุดประสงค์ของ เอฟ วัน แม้เรื่องเงินเป็นประเด็นร้อนในวงการมาเสมอ แต่ต้องเข้าใจก่อนว่า รูปแบบของแต่ละทีมแตกต่างกัน Business Model หรือแผนธุรกิจของแต่ละทีมก็แตกต่างกันด้วย แบบไม่ต้องมองไกล เร้ดบูลล์ เรซิ่ง และ อัลฟ่าทอรี ก็มีโครงสร้างและเป้าหมายต่างกัน ดังนั้นการเปรียบเทียบ เฟอร์รารี่ กับ ฮาส ก็เป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ 


เฉกเช่นเดียวกัน ในฟุตบอล พรีเมียร์ลีก มีทีมอย่าง แมนเชสเตอร์ ซิตี้ ที่สามารถซื้อไม่อั้น จ่ายค่าเหนื่อยไม่อั้น ทางรอดคือการหาผู้สนับสนุนมาปิดช่องว่าง ขณะที่ทีมอย่าง บอร์นมัธ อาจไม่สามารถดึงดูดสปอนเซอร์ระดับโลกได้อย่างนั้นด้วยหลายปัจจัย แต่ไม่ได้แปลว่าพวกเขาไม่สามารถตั้งหวังกับการไปเล่นฟุตบอลยุโรปในสักวัน เพียงแค่มันอาจต้องใช้เวลา เหมือนกันกับที่ Cost Cap ต้องใช้เวลาและอาจต้องลองผิดลองถูก จนกว่าจะถึงวันที่ทุกทีมสามารถแข่งขันได้ใกล้เคียงกันมากขึ้น 


ทางแก้ในความคิดของทีมบอสชาวอังกฤษคือการมองหาสิ่งที่ทำให้ค่าใช่จ่ายของแต่ละทีมมีราคาสูง และต้องมองให้ลึกถึงการทำ Research and Development ว่าอะไรจะทำให้รถก้าวหน้า และสามารถสู้กับทีมอื่นได้ การลดภาระค่าใช้จ่ายเป็นสิ่งที่ดี และการไปสู่เป้าหมายมีหลากหลายหนทาง ไม่ใช่แค่เรื่อง Cost Cap เท่านั้น 


ในเมื่อเปรียบเทียบมาถึงขนาดนี้ หากย้อนกลับไปดูกรณีของ แมนเชสเตอร์ ซิตี้ และ ปารีส แซงต์ แชร์กแมง ที่เคยทำผิดกฎไฟแนนเชี่ยล แฟร์เพลย์ และโดนลงโทษปรับเงินเพิ่ม 40 ล้านยูโร (ประมาณ 1,470 ล้านบาท) ไม่ได้ส่งผลอะไรมากนัก รวมถึงการตัดรายชื่อนักเตะจาก 25 เหลือ 21 รายชื่อที่จะลงเล่น ยูฟ่า แชมเปี้ยนส์ ลีก ก็ไม่ได้มีผลกระทบถึงขนาดที่จะหยุดความร้อนแรงในสนามได้ 


ดังนั้นความหมายแฝงในคำว่า ‘Minor’ หรือการกระทำผิดเพียงเล็กน้อย เป็นไปได้ว่าโทษครั้งนี้คงไม่ยิ่งใหญ่นัก และเป็นการปรับโทษให้เห็นว่า มีคนทำผิดจริง ลงโทษจริง ไม่ปล่อยผ่าน แม้ผู้กระทำผิดเป็นทีมยักษ์ใหญ่ของวงการ 


ประกาศคำตัดสินเมื่อไร


เร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ จากการคาดการ เพราะหากพอจำกันได้ ก็ผ่านมานานกว่า 300 วันแล้ว นับตั้งแต่ อาบูดาบี กรัดง์ปรีซ์ 2021 หรือเรซสุดท้ายที่ เมอร์ซิเดส คว้าแชมป์ในประเภททีม และ เวอร์สเตปเปน ได้แชมป์เดี่ยว แม้ เร้ดบูลล์ พยายามยืนความบริสุทธิ์มาตลอดก็ตาม


ทีมอื่นประท้วงคำตัดสินได้หรือไม่


จนถึงตอนนี้ ไม่มีใครยื่นประท้วง ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะการตัดสินยังไม่ถึงที่สุด แต่ทีมใหญ่ทั้ง เมอร์ซิเดส และ เฟอร์รารี่ ต่างแสดงความกังวลผ่านสื่อ หรือเรียกได้อีกอย่างว่าใช้สื่อเป็นการกดดันสหพันธ์ฯ เช่นเดียวกับที่ มาร์ติน บรันเดิ้ล นักวิเคราะห์คนดังของ สกายสปอร์ตส์ ยืนยันว่าอยากเห็นโทษหนักเพื่อเขียนเสือให้วัวกลัว และเป็นเยี่ยงอย่างของวงการในอนาคต 


อย่างไรก็ดี คำตัดสินของ FIA จะถือเป็นที่สิ้นสุด ไม่ว่าหนักเบาจะไม่มีทีมไหนสามารถประท้วงได้ เนื่องจากคำตัดสินจากความผิดของ เร้ดบูลล์ ไม่ใช่การแข่งในสนาม 


บทสรุปของกรณีนี้เป็นสิ่งที่ต้องติดตามต่อไป แต่เนื่องจากปูทางมาแล้วว่าเป็นความผิดเล็กน้อย การปรับโทษก็เป็นไปได้ว่าอาจไม่ใหญ่ยิ่งพอจะให้ทุกคนลุกขึ้นยืนปรบมือ และย่อมมีผู้ที่พึงใจและไม่พอใจกับทุกเหตุการณ์เสมอ 


F1DRIVE

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

อัปเดตข่าวล่าสุดก่อนใคร :

Website : www.truevisions.co.th

Facebook : Truevisions

Twitter : @TrueVisions

Line : @Truevisions

Youtube official : Truevisionsofficial

Instagram : Truevisionsofficial